มีกลิ่นปาก
เมื่อไรก็ตามที่เราพูดคุยกับใครสักคน แล้วเขาเบือนหน้าหนีนิด ๆ และพยายามยืนห่างจากเราเหมือนรังเกียจกลิ่นปาก เราจะหมดความมั่นใจในทันที วิธีดูแลช่องปากเหล่านี้คงช่วยคุณได้มากทีเดียว
สาเหตุภายในช่องปาก
1. ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากไม่ดี เช่น แปรงฟันไม่สะอาด มีคราบอาหารหรือคราบแบคทีเรียเกาะอยู่ตามผิวฟัน ลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม ก็ทำให้มีกลิ่นปากได้ ถ้ามีเศษอาหารติดตามซอกฟัน ต้องกำจัดออกโดยใช้ไหมขัดฟัน ซึ่งควรฝึกใช้ให้เป็นนิสัยอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
2. มีฟันผุ ทำให้เศษอาหารติดค้างอยู่ในรูฟันที่ผู อาหารเหล่านี้จะบูดเน่าและทำให้เกิดกลิ่น หรือผู้ที่มีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน มีหนองที่ปลายรากฟัน หนองพวกนี้จะมีกลิ่นมาก การแก้ไขคือ อุดฟันซี่ที่ผุนั้น ถ้าผุทะลุโพรงประสาทแล้ว ก็ต้องรักษารากฟัน ถ้าผุมากจนไม่สามารถเก็บฟันไว้และรักษาให้ดีเหมือนเดิมได้ ก็จะต้องถอนออกแล้วใส่ฟันปลอม
3. โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ เหงือกอักเสบ เนื่องจากมีหินปูนและเศษอาหารสะสม รอบรากฟันถูกทำลาย เหงือกอ้าออกจากตัวฟัน เศษอาหารเข้าไปสะสมได้ง่ายขึ้น และแปรงออกได้ไม่หมด ทิ้งไว้นาน ๆ จึงส่งกลิ่นออกมา การแก้ไขคือ ต้องกำจัดหินปูนออกให้หมด โดยให้ทันตแพทย์ขูดออก ในรายที่เหงือกอ้าออกมาก และมีหินปูนไปสะสมอยู่มาก อาจต้องผ่าตัดเปิดเหงือกออกเพื่อกำจัดหินปูนให้หมดแล้วจึงปิดเหงือกกลับเข้าไปตามเดิม
4. มีแผลในช่องปาก กลิ่นปากอาจเกิดขึ้นได้ภายหลังการถอนฟัน หรือผ่าตัดในช่องปาก เนื่องจากขณะมีแผลในปากผู้ป่วยมักจะใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ถนัด การกินอาหารอ่อนทำให้มีอาหารติดฟันได้ง่ายมากขึ้น แผลที่มีเลือดไหลซึมจะเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อโรคในช่องปาก ทำให้เกิดการบูดเน่าและเลือดมีกลิ่นเหม็นได้
วิธีแก้ไขคือ ขณะมีแผลในปาก ไม่ควรละเลยการทำความสะอาดช่องปาก หลังจากรับประทานอาหารควรแปรงฟันทันที โดยใช้แปรงปัดเบา ๆ เพื่อกันคราบอาหารเกาะฟันนาน ถ้าอ้าปากหรือแปรงฟันไม่ได้ ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ ทุกครั้งหลังกินอาหาร แล้วใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นพันนิ้วเช็ดฟัน เมื่อแผลหายเป็นปกติและแปรงฟันได้แล้ว กลิ่นปากก็จะหายไป
5. การใส่ฟันปลอมหรือใส่เครื่องมือต่าง ๆ ในปาก เช่น เครื่องมือจัดฟัน เครื่องมือกันฟันล้มเก หรือเฝือกสบฟัน เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้ถ้ารักษาความสะอาดไม่ดี จะทำให้เกิดกลิ่น โดยเฉพาะเครื่องมือที่ทำด้วยอะคริลิกหรือมีส่วนผสมของอะคริลิก เพราะเนื้ออะคริลิกมีรูพรุนทำให้ดูดซึมของเหลวต่าง ๆ ได้ ถ้าล้างไปสะอาดเศษอาหารจะบูดเน่าติดอยู่กับเครื่องมือทำให้มีกลิ่นได้
ดังนั้นควรทำความสะอาดเครื่องมือทุกครั้งหลังจากถอดแล้ว และถ้ายังไม่ใส่ต่อก็ควรแช่ไว้ในน้ำสะอาด ก่อนใส่ควรทำความสะอาดอีกครั้ง ฟันปลอมที่ใส่มานานแล้ว ถ้ามีคราบหรือหินปูนเกาะ อาจใช้น้ำยาสำหรับแช่ฟันปลอมโดยเฉพาะแช่เป็นครั้งคราวก็ได้
6. ลิ้นเป็นฝ้า เกิดจากการสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรียที่ผิวด้านบนของสิ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก เราสามารถขูดออกโดยใช้แปรงสีฟัน ผ้า ไหมขัดฟัน ไม้ขูดฟัน ขณะแปรงฟัน นอกจากนี้การกินอาหารที่มีกาก เช่น อ้อย สับปะรด ก็ช่วยขัดถูลิ้นได้ไปในตัว
7. น้ำลาย ก็มีส่วนทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ถ้ามีน้ำลายน้อยชำระล้างเศษอาหารได้ไม่หมด ก็มีกลิ่นปากได้ ตอนตื่นนอนคนเราจึงมักจะมีกลิ่นปาก เพราะขณะหลับมีการไหลเวียนของน้ำลายน้อย ผู้ที่มีน้ำลายข้นเหนียวจะชำระล้างเศษอาหารได้ไม่ดีเท่าผู้ที่มีน้ำลายใส ดังนั้นควรดื่มน้ำบ่อย ๆ ถ้ารู้สึกว่าปากแห้งคอแห้ง
สาเหตุภายนอกช่องปาก
1. โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน เริ่มตั้งแต่จมูก คอจนถึงหลอดลม ไซนัสอักเสบ เกิดจากการมีของเหลวหรือหนองอยู่ในโพรงอากาศของจมูก ซึ่งมีหลายโพรงอักเสบจนมีหนองทำให้เกิดกลิ่นออกมาทางจมูกขณะหายใจ และทางปากขณะพูด ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเป็นหวัดบ่อย ๆ หรือเป็นนาน ๆ
2. โรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง วัณโรคปอด หรือมะเร็งที่ปอด มักมีกลิ่นออกมากับลมหายใจสะสมปาก ผู้ที่สูบบุหรี่นาน ๆ ทำให้ลมหายใจ และลมปากมีกลิ่นได้เช่นกัน
3. มะเร็งโพรงจมูก จะมีกลิ่นเหม็นมาก และมีหนองไหลออกจากจมูกลงไปในคอเวลาก้มศีรษะ ซึ่งคุณควรจะต้องปรึกษาแพทย์
4. ทอนซิลอักเสบ ผู้ที่เจ็บคอขณะที่มีการอักเสบในลำคอหรือต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังก็มีกลิ่นปากได้ และจะหายไปได้เองเมื่อคอหายอักเสบ
5. ระบบย่อยอาหาร เริ่มตั้งแต่ปาก หลอดอาหารกระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีหนอง อาจมีกลิ่นออกมา ขณะพูดหรือเรอได้ ผู้ที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี ท้องอืด ท้องเฟ้อ เมื่อมีลมออกจากกระเพาะจะมีกลิ่นเหมือนอาหารบูดตามออกมาด้วย รวมทั้งผู้ที่ระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องผูกบ่อย ๆ เมื่อมีลมดันขึ้นหรือเรอจะทำให้ปากมีกลิ่นได้เช่นกัน
นอกจากนี้กลิ่นปากยังเกิดได้จากการที่สารมีกลิ่นถูกดูดซึมเข้าทางกระแสโลหิต และถูกขับออกทางลมหายใจ เหงื่อ น้ำลาย หรือทางปัสสาวะ สารที่ถูกดูดซึมเข้าไปนี้อาจมาจากอาหาร เครื่องดื่ม ยา หรือมีการสะสมของสารที่ผิดปกติ ในเลือด
6. การรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่น เช่น กระเทียม หัวหอม เครื่องเทศ สะตอ ทำให้มีกลิ่นปากได้ แต่เมื่อถูกย่อยดูดซึม และขับถ่ายออกหมด กลิ่นจะหายไป แต่ถ้ารับประทานอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้มีกลิ่นปากอย่างต่อเนื่องได้ด้วย
7. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ ทำให้ปากเหม็นเช่นกัน ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดกลิ่นได้ เช่น ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง และยาโรคจิตบางตัว
วิธีรักษาและป้องกัน
การกำจัดกลิ่นปากขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิด ถ้าเกิดจากภายในช่องปาก ควรปรึกษาหมอฟันเพื่อได้รับการอุดฟันรักษาโรคเหงือก แนะนำวิธีแปรงฟัน และตรวจสุขภาพในช่องปากทุก ๆ 6 เดือน และหากสาเหตุของการเกิดกลิ่นมาจากอวัยวะส่วนอื่น ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาตามโรคนั้น ๆ
ยาสีฟัน ยาอม หรือหมากฝรั่ง มิใช่ เป็นการรักษาแต่อย่างใด ส่วนการใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อดับกลิ่นปาก ควรเลือกให้เหมาะสม น้ำยาบ้วนปากที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคมักใช้เมื่อมีอาการอักเสบ ติดเชื้อ หรือมีแผลในช่องปากหรือลำคอเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นประจำ เนื่องจากไม่ได้กำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก เช่น โรคเหงือกอักเสบ ฟันผุ หรือรากฟันเป็นหนอง และถ้าไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุ กลิ่นปากจะไม่มีวันหมดไปได้
เหตุผลที่ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างต่อเนื่อง เพราะยาจะไปทำลายเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามปกติในช่องปากจนหมด จึงอาจติดเชื้อราได้ง่าย และถ้าเป็นเชื้อราแล้วจะรักษาค่อนข้างยากและหายช้า สำหรับน้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ ซึ่งทันตแพทย์แนะนำให้อมบ้วนปากเพื่อป้องกันฟันผุ คุณสามารถใช้ได้ โดยเลือกชนิดที่ไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคผสมอยู่ ถ้าเป็นกลิ่นปากที่เกิดขึ้นชั่วคราวหลังรับประทานอาหารกลิ่นแรง ให้เคี้ยวใบสะระแหน่ ผักชีฝรั่ง หรือกานพลู หลังมื้ออาหาร หรือสะดวกกว่านั้นก็คือ เคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาล