|
รับมือกับสารพัดกลิ่นกาย
ถ้าใครไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นคงไม่เข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่มีกลิ่นไม่พึงปรารถนาตามจุดต่าง ๆ บนร่างกาย ว่าเขาอาย ขาดความมั่นใจ หรือกลัวคนรังเกียจแค่ไหน ฉบับนี้ MH ตั้งใจคัดสรรข้อมูลเต็มที่ เพื่อตามล่าหาวิธีแก้ไขมาให้อย่างสมใจ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นตัวแรง กลิ่นบริเวณจุดซ่อนเร้น และกลิ่นปาก หวังว่าคงถูกใจหนุ่ม ๆ มีปัญหาทั้งหลาย
กลิ่นตัวแรง
บริเวณรักแร้ของเราทุกคนนั้นมีต่อมที่สร้างเหงื่ออยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกเรียกว่า “Eccrine Glands” มีหน้าที่คอยสร้างเหงื่อเวลาอากาศร้อน เหงื่อชนิดนี้จะใสและมักไม่มีกลิ่น ยกเว้นเวลากินอาหารที่มีกลิ่นแรง ๆ เช่น กระเทียม แอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิดก็อาจทำให้มีกลิ่นได้บ้าง อีกชนิดหนึ่งมีชื่อว่า “Apocrine Glands” เหงื่อที่ถูกสร้างออกมาจะมีความเหนียวกว่า และพร้อมจะเปลี่ยนสภาพทันทีที่สัมผัสกับแบคทีเรียตามผิวหนัง ผลก็คือกลิ่นเปรี้ยว ๆ ของกรดไขมัน และแอมโมเนีย ผสมกันเป็นกลิ่นรักแร้นั่นเอง
วิธีรักษา
การทำความสะอาดบริเวณรักแร้อย่างสม่ำเสมอ หรือการใช้ยาดับกลิ่นเพื่อลดจำนวนแบคทีเรียเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผล แต่ในบางกรณีจำเป็นต้องอาศัยการลดปริมาณเหงื่อที่ถูกสร้างออกมา โดยลดการทำงานของต่อมหรือลดจำนวนของต่อม การลดปริมาณของต่อมเหงื่อสามารถทำได้ไม่ยาก ด้วยการฉีดยาในกลุ่มโบทูลินัมท็อกซิน หรือ “โบท็อกซ์” เข้าไปที่รักแร้โดยตรง ซึ่งสามารถลดการทำงานของต่อมไขมันได้บางส่วน แต่จะได้ผลเพียงชั่วคราวประมาณ 3 – 4 เดือน เท่านั้น
ดังนั้นการที่จะทำให้ปริมาณของเหงื่อลดลงอย่างถาวรจึงจำเป็นต้องลดจำนวนที่รักแร้เป็นหลัก การลดจำนวนต่อมเหงื่อ หรือกำจัดกลิ่นอย่างถาวรมีวิธีการมากมายที่ใช้เพื่อลดจำนวนของต่อมเหงื่อ อาทิ การตัดผิวหนังบริเวณรักแร้บางส่วนออกไป ซึ่งวิธีนี้ถึงแม้จะได้ผล แต่ก็มีแผลบริเวณรักแร้เกิดขึ้นแทน หรือการใช้เครื่องมือขนาดเล็กคล้ายเครื่องขูดมะพร้าว (Curettage) เข้าไปขูดได้ผิวหนังเพื่อหลีกเลี่ยงการตัด นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่นิยมกัน แต่เนื่องจากต่อมไขมันยูชิดผิวชั้นนอกมาก อาจทำให้ผิวหนังชั้นนอกตายเยอะ แถมยังทำให้ผิวซ้ำมาก ซึ่งต้องใช้เวลารักษาตัวอยู่นาน
ถ้าถามว่าเลเซอร์ช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่จากผลการศึกษาล่าสุดพบว่า แสงเลเซอร์บางชนิดมีความสามารถในการลดจำนวนต่อมเหงื่อได้ โดยแสงเลเซอร์ชนิดนี้จะถูกนำผ่านสายไฟเบอร์ออปติกขนาดเล็กเพียง 2 มิลลิเมตร สอดเข้าไปยังชั้นใต้ผิวหนังเพื่อทำลายต่อมเหงื่อโดยตรง โดยไม่มีผลกระทบต่อเส้นเลือดฝอยและผิวหนังแต่อย่างใด เนื้อเยื่อจึงมีความซอกซ้ำไม่มาก ระยะเวลาในการพักฟื้น จึงสั้นกว่าวิธีเดิม ๆ อีกทั้งยังไม่ทิ้งร่องรอยของบาดแผลให้เห็นอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการใช้แสงเลเซอร์เพื่อรักษา ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีความชำนาญโดยตรง เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ผิดวิธี
การทำศัลยกรรมรักแร้
ข้อดี: แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นตัว ขั้นตอนแรกควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อน ส่วนวิธีผ่าตัดจะพิจารณาภายหลังจากการดูแลรักษาด้วยการทายาไม่ได้ผล ศัลยกรรมเพื่อลดกลิ่นที่รักแร้ มีผลทำให้ขนรักแร้ลดน้อยลง การทำศัลยกรรมชนิดนี้จะทำลายต่อมสร้างเหงื่อ และรากขนที่อยู่ตื้น ๆ ใต้ผิวหนัง
การที่เหงื่อมีน้อยลงส่งผลให้เชื้อโรคบริเวณรักแร้ไม่แพร่พันธุ์ออกมามาก จึงทำให้กลิ่นมีน้อยลง แต่การศัลยกรรมลดกลิ่น หรือทำวิธีใดก็ตามไม่มีทางกำจัดได้หมด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะผิวจะต้องมีเหงื่อเหลืออยู่บ้าง รวมถึงเชื้อโรคที่อยู่บริเวณนั้นด้วย ผลการศัลยกรรมที่ได้คือลดกลิ่นให้น้อยลง จึงต้องใช้วิธีดูแลทำความสะอาดร่วมด้วย
ศัลยกรรมลดกลิ่นรักแร้ส่วนใหญ่จะได้ผลดีถึงดีมากในแง่ของการลดเหงื่อและกลิ่น เนื่องจากต่อมต่าง ๆ จะอยู่ติดกับผิวมาก การทำลายต่อมเหล่านี้แพทย์จะต้องใช้ความระมัดระวัง เพื่อที่จะไม่ทำให้ผิวหนังบอบซ้ำมาก ขณะเดียวกันก็ต้องทำลายต่อมให้ได้มากที่สุด
ข้อเสีย: ถ้าหากแพทย์ทำลายต่อมได้น้อย เพราะเกรงว่าจะทำให้ผิวหนังตาย ผลที่ได้ก็อาจไม่ดี และถ้าหากแพทย์ทำด้วยความรุนแรง หรือไม่ระมัดระวังต่อผิวหนัง ก็จะมีปัญหาเรื่องผิวหนังตาย ทำให้ผิวส่วนนั้นดำ
วิธีการ / ค่าใช้จ่าย: แพทย์จะใช้วิธีให้ยาชาทำให้ไม่เจ็บในระหว่างทำ จึงไม่ต้องนอนพักรักษาตัว การทำด้วยวิธีนี้จะมีรอยแผลที่ซ่อนอยู่ในร่องพับรักแร้ รอยแผลจะดูดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการดูแลของแพทย์ที่จะทำให้ผิวไม่บอบซ้ำ ขณะทำศัลยกรรม รวมทั้งการเย็บแผลที่ดี ประณีต และมีประสิทธิภาพ หลังจากทำแล้วอาจต้องพักฟื้นประมาณ 5 วัน และไม่ให้แผลโดนน้ำ 7 วัน ไม่ควรใช้งานหรือขยับรักแร้นาน 14 วัน ค่าใช้จ่ายในการทำศัลยกรรมประมาณ 15,000 บาท
วิธีดับกลิ่นตัวแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
นำ “สารส้ม” มาถูรักแร้ตอนอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ หรือไม่ก็นำ “ใบตำลึง” มาโขลกให้ละเอียด ผสมกับ “ปูนแดง” ก้อนเล็ก ๆ แล้วนำมาทาบาง ๆ บริเวณรักแร้ แล้วปล่อยให้แห้งเอง ควรทำตอนอาบน้ำก่อนไปทำงานตอนเช้า คุณจะได้ทำงานตลอดวันโดยไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ออกมารบกวนใครต่อใคร